วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

สหกรณ์จังหวัดจันทบุรีร่วมประชุมติดตามของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 (2-มี.ค.-58)

                เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 8.30 น. นายธนิต จันทร์ประทีป สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี มอบหมายให้ นายสุภาพ เกิดบุญ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ร่วมประชุมการตรวจราชการแบบบูรณาการ รอบที่ 1 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 9 (นายนพปฎล เมฆเมฆา) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานแผนงาน โครงการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี
                นายสุภาพ เกิดบุญ กล่าวว่า การติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจราชการดังกล่าว มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
                1. นโยบายการดำเนินการตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
                2. นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
                3. การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
4. การดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ตลอดจนการบริหารงบประมาณจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558
นายสุภาพ เกิดบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เน้นประเด็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ (โดยการส่งเสริมการตลาดเชิงรุก) และการประชาสัมพันธ์ตลาดเกษตรกร (Farmer market) ที่เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการจัดสถานที่จำหน่ายที่เหมาะสมมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก จำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงสู่ผู้บริโภค ให้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ อาทิ ทางเคเบิ้ลทีวี/ทีวีท้องถิ่น สถานีวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ เอกสาร/แผ่นพับ ตลอดจนทางหน่วยงานราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรร่วมกันประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวด้วย
ซึ่งผลงานการดำเนินโครงการตลาดเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี (Farmer market) ตั้งแต่เริ่มการเปิดจำหน่ายสินค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558) มีแนวโน้มมูลค่าการซื้อขายที่ดีขึ้น คือ เดือนธันวาคม พ.ศ.2557 เปิดตลาด จำนวน 2 วัน มียอดจำหน่าย จำนวน 57,460 บาท, เดือนมกราคม พ.ศ.2558 เปิดตลาด จำนวน 5 วัน มียอดจำหน่าย จำนวน 110,825 บาท และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เปิดตลาดไปแล้วจำนวน 3 วัน มียอดจำหน่าย จำนวน 83,835 บาท รวมแล้วมีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น จำนวน 252,120 บาท
                และด้วยจุดเด่นของจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม อีกทั้งเกษตรกรมีความรู้ มีภูมิปัญญา จึงทำให้จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เล็งเห็นความสำคัญของขบวนการสหกรณ์ ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ จึงมีโครงการบริหารจัดการตลาดผลไม้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย
นอกจากนี้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรียังได้สนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ผลิตผลไม้คุณภาพในสหกรณ์ ตลอดจนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตผลไม้คุณภาพให้ตรงความต้องการของตลาดและจัดส่งผลไม้คุณภาพให้แก่สหกรณ์ โดยมีกลุ่มในสังกัดสหกรณ์กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลชากไทย 2) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลตะเคียนทอง 3) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลคลองพลู 4) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพมะขาม 5) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลฉมัน 6) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพอ่างคีรี 7) กลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลวังแซ้ม 8) กลุ่มผู้ผลิตเงาะคุณภาพตำบลมะขาม 9) กลุ่มผู้ผลิตเงาะคุณภาพตำบลวังแซ้ม 10) กลุ่มผู้ผลิตลำไยคุณภาพ และ 11) กลุ่มผู้ผลิตกล้วยไข่คุณภาพ
                ซึ่งผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดกับจังหวัดจันทบุรี เช่น สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรหมุนเวียนกันออกร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรภายในงานของดีเมืองจันท์มหัศจรรย์ทุเรียนโลก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และสมาชิกผู้ผลิตผลไม้ ยังประสบปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านการผลิต ด้านแรงงาน และด้านการจำหน่าย อาทิ สภาพดินฟ้าอากาศผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตผลไม้คุณภาพ, ค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวในอัตราที่สูงทำให้สมาชิกสหกรณ์มีต้นทุนสูง รวมถึงทักษะ/ฝีมือแรงงานในการเก็บเกี่ยวและคัดเลือกผลไม้ที่ยังขาดแรงงานที่มีคุณภาพ, ด้านสถานที่และอุปกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตไม่เพียงพอ, การเก็บรักษาสินค้าเพื่อเตรียมจำหน่าย (เก็บมังคุดค้างคืนทำให้เปลี่ยนสีและขายได้ราคาต่ำ), การจัดการคำสั่งซื้อ (บรรทุกมาแล้วขายไม่ได้) เป็นต้น
                และในการประชุมติดตามผลการดำเนินงานฯ ในครั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี จึงให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการผลิตผลไม้คุณภาพแก่สมาชิกให้มากขึ้น การพัฒนาแรงงานด้านการเก็บเกี่ยว จัดการสถานที่จำหน่ายผลผลิตให้กระจายตามท้องที่ หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อช่วยเหลือต้นทุนด้านการขนส่งและทำให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่เสียหายระหว่างการขนส่ง อีกทั้งภาครัฐควรผลักดันเพิ่มช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายมากขึ้น

                นายสุภาพ เกิดบุญ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ประชุมเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 13.30 น. ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนงาน/โครงการของจังหวัดจันทบุรี (โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลไม้เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแปรรูปบ้านปลายคลอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำมังคุด ทั้งนี้กลุ่มอาชีพดังกล่าวเป็นกลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.จันทบุรี จำกัด ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรีด้วย






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น